LIMSwiki

ชัยทรัถกำลังฉุดคร่าพระนางเทราปตี

ชัยทรัถ (สันสกฤต: जयद्रथ) คือตัวละครหนึ่งในมหากาพย์มหาภารตะ เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นสินธุ และเป็นบุตรของพระฤาษีวฤธเกษตร ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับทุหศาลา เป็นธิดาคนสุดท้องของท้าวธฤตราษฎร์และพระนางคานธารี และเป็นน้องสาวของทุรโยชน์และกลุ่มพระเชษฐาเการพทั้ง 99 องค์ ดังนั้นจึงมีศักดิเป็นน้องเขย

ครั้งนึงเมื่อพวกปาณฑพพร้อมกับพระนางเทราปทีได้แพ้พนันสกาให้กับพวกเการพจนถูกเนรเทศไปอยู่ในป่าเป็นเวลา 12 ปี ชัยทรัถที่ทราบข่าวนั้นก็มีจิตเสน่หาต่อพระนางเทราปที จึงไปหาพระนางที่อาศรมในตอนที่พวกปาณฑพไม่อยู่ พร้อมมอบผ้าแพรพันและเครื่องประดับต่าง ๆ ให้แก่พระนางเพื่อหวังจะรับพระนางมาเป็นพระชายา แต่พระนางเทราปทีกลับไม่ยอมรับ ชัยทรัถจึงทำการฉุดคร่าพระนางเทราปตีขึ้นรถม้าแล้วเดินทางกลับแคว้น แต่ไปได้ไม่ไกลนักก็ถูกภีมะและอรชุนเข้ามาช่วยเหลือได้ทันและชัยทรัถถูกจับกุม ภีมะอยากจะฆ่าชัยทรัถเสีย แต่ถูกยุธิษฐิระห้ามปรามเพราะไม่อยากให้นางทุหศาลา ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องต้องเป็นหม้าย และให้ปล่อยตัวไป ก่อนที่จะปล่อยตัวไป พวกปาณฑพทั้งห้าพร้อมใจกันทำการโกนหัวชัยทรัถ เหลือเพียงห้ากระจุกเพื่อเป็นการย้ำเตือนสิ่งที่ชัยทรัถได้กระทำ ด้วยความอับอายและโกรธแค้นพวกปาณฑพมากแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงได้ไปอยู่ในป่าและคอยบำเพ็ญเพียรอย่างไม่หยุดหย่อนจนพระศิวะพอพระทัยและให้พรหนึ่งข้อ ชัยทรัถได้ขอให้ตนสามารถสังหารพวกปาณฑพลงได้ แต่พระศิวะได้ปฏิเสธคำขอพรดังกล่าว เนื่องจากพวกปาณฑพได้รับการคุ้มครองจากพระกฤษณะ ผู้เป็นพระนารายณ์อวตารลงมา ดังนั้นพระศิวะจึงประทานพรให้แก่ชัยทรัถว่า จะสามารถเอาชนะพวกปาณฑพได้เพียงหนึ่งวันเท่านั้น ชัยทรัถที่ได้รับพรก็พอใจและกลับแคว้นไป

ในสงครามทุ่งกุรุเกษตร วันที่สิบสาม โทรณาจารย์วางกลศึกจัดทัพเป็นรูปกงจักร (จักรพยุหะ) ยุธิษฐิระขอร้องให้อภิมันยุซึ่งเป็นคนเดียวที่รู้วิธีการทะลวงเข้า แต่ไม่รู้จักวิธีออก ฝ่ายปาณฑพพยายามจะตามเข้าไป โดยเฉพาะท้าวทรุปัท ผู้รู้วิธีทะลวงออกจากจักรพยุหะ แต่ไม่อาจฝ่ากองทัพของชัยทรัถเข้าไปได้ เพราะชัยทรัถสามารถเอาชนะได้ตามพรวิเศษของพระศิวะ ด้วยเหตุนี้ทำให้อภิมันยุถูกรุมสังหารในที่สุด ทำให้พวกปาณฑพและอรชุนโศกเศร้า แต่เมื่ออรชุนรับรู้ถึงชัยทรัถตัวต้นเหตุที่เข้าขัดขวางพวกปาณฑพไม่ให้ช่วยเหลืออภิมันยุจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายก็เกิดโกรธแค้น อรชุนก็สาบานว่าจะสังหารชัยทรัถเพื่อล้างแค้นให้ได้ก่อนพระอาทิตย์ของวันถัดไปจะตกดิน หากทำมิได้ก็จะขอกระโดดลงเข้ากองไฟให้ม้วยมรณาสิ้นตามสัตย์สาบาน

วันที่สิบสี่ ฝ่ายปาณฑพจัดทัพเป็นรูปพระขรรค์ (ขัฑคะพยุหะ) ฝ่ายเการพจัดทัพรัดกุมมาก ถึงสามชั้นคือ ชั้นที่หนึ่ง เป็นรูปกงจักร (จักรพยุหะ) ชั้นที่สอง เป็นรูปตะกร้าเหล็ก (ศกฏะพยุหะ) ชั้นที่สาม เป็นรูปรูของเข็มเย็บผ้า (ศูจิมุขพยุหะ) เพื่อปกป้องชัยทรัถ อรชุนแค้นถึงกับบุกทะลวงเข้าไปเข่นฆ่าทหารฝ่ายเการพไปถึง 1 อักเษาหิณี การรบล่วงเลยจนถึงใกล้จะเย็นแล้ว ทุรโยชน์ก็ยิ้มอย่างดีใจเพราะเวลาก็ใกล้เพียงอึดใจก็สามารถปกป้องชัยทรัถ และอรชุนก็จะกระโดดลงเข้ากองไฟให้ม้วยมรณาสิ้นตามสัตย์สาบาน ชัยชนะก็จะเป็นของพวกตน พระกฤษณะที่เห็นท่าไม่ดีจึงใช้จักรสุทรรศนะบดบังดวงสุริยะ ทำให้เกิดสุริยคราส ฝ่ายเการพเข้าใจว่าสุริยะลับขอบฟ้าไปแล้ว ชัยทรัถจึงออกมาจากแนวป้องกัน เมื่อพระกฤษณะเรียกจักรกลับมา แสงสว่างส่องอีกครั้ง อรชุนจึงแผลงศรปาศุปัตเข้าไปตัดศีรษะชัยทรัถจนขาดกระเด็น และศีรษะของชัยทรัถได้ลอยตรงไปยังหน้าตักของพระฤาษีวฤธเกษตร ผู้เป็นบิดาที่กำลังนั่งสมาธิบำเพ็ธเพียรอยู่ พระฤาษีวฤธเกษตรก็ตกใจจนทำศีรษะของชัยทรัถตกลงพื้นและถูกไฟเผาจนถึงแก่ความตาย เนื่องจากพระฤาษีวฤธเกษตรได้สาปเอาไว้ว่า ผู้ใดที่ทำให้ศีรษะของบุตรตนตกลงพื้น ผู้นั้นก็จะถูกไฟเผาจนถึงแก่ความตาย

ชัยทรัถ มีพระโอรสองค์หนึ่งที่ชื่อว่า Surath