LIMSwiki

พระกูรมะ ในเทวาลัยนารายัณ ตีรูมาลา

กูรมาวตาร (สันสกฤต: कूर्म; Kūrma, ตรงตัว: เต่า) เป็นอวตารที่สองของพระวิษณุใน 10 อวตารของทศาวตาร กูรมะได้ปกป้องโลกจากหายนะ สัญลักษณ์ของกูรมะ คือเต่าและรูปครึ่งมนุษย์ครึ่งเต่า ภาพของกูรมาถูกพบได้หลายวิหาร[1][2]

ในยุคพระเวท กูรมะเป็นสัณฐานของโลก

ลักษณะ

กูรมะ (เต่า) ใต้เขามันทรคีรี มีพญานาคพันรอบเขา มีเทวดาและอสูรฉุดดึง พร้อมท่ารำของพระวิษณุในสนามบินสุวรรณภูมิ

ในยุคพระเวท คัมภีร์ศตบทพราหมณะ กล่าวว่า กูรมะถูกใช้เป็นสัณฐานของโลก โดยโลกมีสัณฐาน ได้แก่ พญานาคเป็นสัณฐานแรก และเป็นขอบของจักรวาล สัณฐานที่สองคือ กูรมะ สัณฐานที่สามคือ ช้าง 4 เชือก รองโลกที่มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง บนยอดเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์

ความเกี่ยวข้องกับตำนานการกวนเกษียรสมุทร

ในวิษณุปุราณะกล่าวว่า เหตุเกิดที่ฤๅษีทุรวาส (อวตารของพระศิวะ บุตรของฤๅษีอัตริ และนางอนุสูยาเทวี) ได้นำพวงมาลาทิพย์มอบให้แก่พระอินทร์ แต่เมื่อพระอินทร์นำไปวางบนกระพองช้างไอราวัต (เอราวัณ) ช้างนั้นก็เกิดเมากลิ่นมาลาทิพย์ ดึงพวงมาลาลงมาที่พื้น และกระทึบจนป่นปี้ จากนั้นก็วิ่งเตลิดหนีไป ฤๅษีทุรวาส เห็นเหตุเช่นนั้น ก็โกรธพระอินทร์ที่ไม่ควบคุมหรือขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงสาปให้เหล่าเทวดาทั้งปวง ต้องสูญเสียสมบัติแห่งสวรรค์ รวมถึงฤทธิ์อำนาจ รบกับอสูรครั้งใด ก็ต้องพ่ายแพ้ไปตลอด

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น เหล่าเทวดาจึงนำความไปปรึกษาพระมหาเทพทั้งสาม คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะมหาเทพ ซึ่งพระวิษณุเทพทรงแนะให้ทำพิธีกวนเกษียรสมุทร เพื่อให้สมบัติกลับมาเช่นเดิม และให้เกิด "น้ำอมฤต" เพื่อเทวดาดื่มแล้วจะได้เป็นอมตะ ไม่ตาย ซึ่งโดยให้เทวดาไปขอความร่วมมือจากเหล่าอสูรให้มาร่วมมือ โดยให้บอกว่า จะแบ่งน้ำอมฤตให้ครึ่งหนึ่ง

จากนั้นพระวิษณุทรงแนะว่า ให้ชะลอเขามันทระจากเขาหิมาลัย มาเป็นเสาแกน และให้นาควาสุกรีเป็นสายเชือก ตั้งเขามันทระลงกลางเกษียรสมุทร และให้เทวดากับอสูรแบ่งกันจับข้างหัวและหางนาค ซึ่งเทวดายอมจับหางนาค และอสูรจับทางหัวนาค ซึ่งเมื่อเริ่มกวนเกษียรสมุทรไปได้ระยะหนึ่งนั้น เขามันทระซึ่งเป็นแกนกลาง ได้ค่อย ๆ จมลง และทะลุลงไปในโลกเรื่อย ๆ พระวิษณุทรงเห็นเช่นนั้น จึงอวตารไปเป็นกูรมะ (เต่า) ดำลงไปรองรับฐานของมันทระ และยกเขามันทระขึ้นด้วยหลังของเต่านี้เอง จึงทำให้การกวนเกษียรสมุทรดำเนินต่อไปได้

กูรมะอยู่ใต้ภูเขามันทรคีรีที่มีพญานาคที่ถูกพันอยู่ที่ภูเขาในช่วงการกวนเกษียรสมุทร

วิหาร

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Dallapiccola, A.L. (1997). "Ceiling Paintings in the Virupaksha Temple, Hampi". South Asian Studies. Taylor & Francis. 13 (1): 55–66. doi:10.1080/02666030.1997.9628525.
  2. Prabhat Mukherjee (1981). The History of Medieval Vaishnavism in Orissa. Asian Educational Services. pp. 26–28, 49. ISBN 978-81-206-0229-8.

บรรณานุกรม

เว็บที่เชื่อมโยง

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Kurma